เอื้อ สุนทรสนาน

เอื้อ สุนทรสนาน หรือเรียกกันว่า "ครูเอื้อ" (21 มกราคม พ.ศ. 2453 - 1 เมษายน พ.ศ. 2524) เป็นทั้งนักร้อง นักประพันธ์เพลงและหัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการเพลงไทยสากล โดยริเริ่มก่อตั้ง สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์[1]ทั้งมีผลงานมากมายจนนับไม่ถ้วนเป็นที่คุ้นเคยของผู้ฟังมากว่าครึ่งศตวรรษ เช่น เพลงเทศกาล/ประจำจังหวัด/สถาบันการศึกษา/สดุดี/ปลุกใจ ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 2,000 เพลง เช่น รำวงลอยกระทง ,รำวงเริงสงกรานต์ ,นางฟ้าจำแลง ฯลฯ

ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี พ.ศ. 2518

เมื่อ พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลเพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลก และได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ใน พ.ศ. 2552[2]

 

ในวัยเด็ก

เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ณ ตำบลโรงหีบ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม บิดาชื่อ นายดี สุนทรสนาน มารดาชื่อ นางแส สุนทรสนาน มีนามเดิมว่า "ละออ" ต่อมา บิดาให้นามใหม่เป็น "บุญเอื้อ" และได้มาเปลี่ยนอีกครั้งในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น "เอื้อ" มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ได้แก่

เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเข้าศึกษาได้เพียงปีเศษ ในปี พ.ศ. 2460 บิดาได้พาเข้ากรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวง ขึ้นที่สวนมิสกวัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติ (ภาคเช้า)และวิชาดนตรีทุกประเภท(ภาคบ่าย) ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีฝรั่งตามความถนัดกับครูผู้ฝึกสอนคือ ครูโฉลก เนตตะสุต และ อาจารย์ใหญ่คือ อาจารย์พระเจนดุริยางค์

หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2465 พระเจนดุริยางค์เห็นว่า มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี จึงให้หัดไวโอลิน และ แซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

ชีวิตการทำงาน

สองปีต่อมา เมื่ออายุได้เพียง 12 ขวบ ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ชัดต่อคณาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ให้เข้ารับราชการประจำ กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" เงินเดือน 5 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2467 กระทั่งมีความชำนาญมากขึ้นจึงได้เลื่อนขึ้นไปเล่นวงใหญ่ในปี พ.ศ. 2469 เงินเดือนเพิ่มเป็น 20 บาท และ 2 ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้โอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากร ในสังกัดกองมหรสพ และในปี พ.ศ. 2478 หลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้รับเงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท และ 50 บาทใน 2 ปีต่อมา

นอกจากนับราชการในกรมศิลปากรแล้ว ยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับคณะละครร้องที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คณะของ แม่เลื่อน ไวณุนาวิน และได้แต่งทำนองเพลง ยอดตองต้องลม ขึ้น นับเป็นเพลงแรกที่แต่งทำนอง (เฉลิม บุณยเกียรติ ใส่คำร้อง) ในปีเดียวกันนั้น ได้ขับร้องเพลง นาฏนารี (คู่กับ นางสาววาสนา ละออ) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกที่ได้ขับร้องบันทึกเสียง

จนอายุได้ 26 ปี ใน พ.ศ. 2479 มีโอกาสเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม "ถ่านไฟเก่า" สร้างโดย บริษัทไทยฟิล์ม ( ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ,หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ,นายพจน์ สารสิน และ นายชาญ บุนนาค) และยังได้ร้องเพลง ในฝัน แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์มด้วย

จากงานใหญ่ที่สร้างชื่อเสียง จึงมีความคิดตั้งวงดนตรีขึ้นในปีถัดมา เรียกชื่อวงตามจุดกำเนิดคือ "ไทยฟิล์ม" ตามชื่อบริษัทหนัง แต่ต้องสลายตัวเมื่อไทยฟิล์มเลิกกิจการไปหลังจากนั้นเพียงปีเศษ

กรมโฆษณาการ

ปีต่อมาทางราชการได้ปรับปรุงสำนักงานโฆษณาการ เชิงสะพานเสี้ยว และยกฐานะขึ้นเป็นกรมโฆษณาการ นายวิลาศ โอสถานนท์ อธิบดี นายวิลาศ เห็นว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้ว ก็ควรจะมีวงดนตรีประจำอยู่ จึงได้นำความคิดไปปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงตระหนักถึงฝีไม้ลายมือของเอื้อและคณะอยู่แล้ว จึงได้แนะนำว่า ควรจะยกวงของเอื้อมาอยู่กรมโฆษณาการ โดยการโอนอัตรามาจากกรมศิลปากร อันเป็นที่มาของวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ เอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 (ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่8)


ที่มา : https://th.wikipedia.org




       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com