วันปิยมหาราช

คลิกรูปเพื่อดูวีดีโอ

23 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ครั้นนั้นเป็นที่เศร้าสลดอย่างใหญ่หลวงของพระบรมวงศานุวงศ์และปวงชนทั่วประเทศ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เคารพรักของหวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการทั้งในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงได้ถวายพระนามว่า พระปิยมหาราช หรือ พระพุทธเจ้าหลวง

          เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพตามราชประเพณีแล้ว ครั้งเมื่อบรรจบอภิลักขิตสมัยคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้สืบราชสันตติวงศ์ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายตามราชประเพณี โดยเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประดิษฐานบนพระแท่นนพปฎลมหา-เศวตฉัตร และเชิญพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารประดิษฐาน ณ โต๊ะหมู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม

          ส่วนที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าที่นั่งอนันตสมาคม ที่เรียกว่าพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างประดิษฐานขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงพระชนม์อยู่เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์ยั่งยืนนานถึง 40 ปี และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนพ.ศ. 2451 นั้น

          ต่อมาทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า วันปิยมหาราช และกำหนดให้หยุดราชการวันหนึ่งในวันปิยมหาราช เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น กรุงเทพมหานคร ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็นสำนักพระราชวัง ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติ ฉัตร 5 ชั้น ประดับโคม ไฟ ราวเทียม กระถางธูป ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรก คือ ถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้ว ได้เสด็จฯไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

 

พระราชประวัติ วันปิยมหาราช

          พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จเจ้าฬ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระบรมราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396

          ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3 ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร

          นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พุทธศักราช 2416 ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน

          ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา

          หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

          พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2411 ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง 14 พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

 

พระราชกรณียกิจ วันปิยมหาราช

          ด้านการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทรงผสมผสานประเพณีการปกครองของไทยกับต่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council  of  State) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ และตั้งสภาองคมนตรี (Privy  Council)   ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๑  ทรงตั้งกรมขึ้นใหม่อีก ๖ กรม  รวมกับของเดิมเป็น ๑๒ กรม   กรมเหล่านี้ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๕ ทรงให้ยกฐานะเป็นกระทรวง  ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๓๗  อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย

          ด้านเศรษฐกิจและการคลัง   ในปี พ.ศ.๒๔๑๖  ทรงให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เพื่อเก็บรายได้ของแผ่นดินมารวมไว้แห่งเดียวกัน   และให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้นเป็นครั้งแรก ที่สำคัญคือทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกันโดยเด็ดขาด ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล

          ด้านกฎหมายและการศาล ทรงสถาปนากระทรวงยุติธรรมในปี พ.ศ.๒๔๓๔ มีการชำระพระราชกำหนดกฎหมาย  มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ เป็นฉบับแรก  ทรงสถาปนาโรงเรียนกฎหมายและทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชากฎหมายในทวีปยุโรป   เพื่อกลับมาพัฒนากฎหมายไทยต่อมา

          ด้านการต่างประเทศ  ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญพระราชไมตรี กับนานาประเทศทั่วโลก มีการส่งอัครราชทูตไปประจำต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๒๔  นอกจากนี้ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ และ พ.ศ.๒๔๕๐ เพื่อนำความเจริญต่างๆ มาปรับปรุงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้าอีกด้วย

          ด้านการทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างการวางรูปแบบทางการทหารของชาวยุโรป  มาแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมใช้กับประเทศไทย  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมการบังคับบัญชาทหารบกและทหารเรือเป็นกรมยุทธนาธิการ  นอกจากนี้ ยังทรงให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘  มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกเป็นครั้งแรก พระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยทหารบกและโรงเรียนนายเรือ  ตลอดจนทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหาร  ณ  ทวีปยุโรป

          ด้านการศึกษา ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรม มหาราชวังเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ แล้วขยายออกสู่ประชาชน   โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม  ในปี พ.ศ.๒๔๒๗  นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มการจัดตั้งหอพระสมุด  พิพิธภัณฑสถานและโบราณคดีสโมสรด้วย

          ด้านการศาสนา ในปี พ.ศ.๒๔๓๑โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์  พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรกและในปี พ.ศ.๒๔๔๕โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรก  นอกจากนี้  ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นวัดประจำรัชกาล อีกด้วย

 

พระบรมรูปทรงม้า ของพระปิยมหาราช

          พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2451 ด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน โดยจ้างนายช่างชาวฝรั่งเศสแห่ง บริษัทซุซ เซอรเฟรส ฟองเดอร์ หล่อมาจากกรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง ส่วนเงินที่เหลือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำไปสร้างมหาวิทยาลัยขึ้น มีนามตามพระปรมาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

          พระบรมรูปทรงม้า ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในสตูดิโอของจอร์จ เซาโล  ณ กรุงปารีส ในภาพจะเห็นทั้งปฏิมากรและบรรดาผู้ช่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ พระราชดำเนินเยือนสตูดิโอแห่งนี้เพื่อประทับ เป็นแบบให้เซาโล ระหว่างการเสด็จฯ ประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙

 

 

ที่มาเกี่ยวกับบทความ วันปิยมหาราช

www.lib.ru.ac.th

www.aksorn.com




       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com