วันพิพิธภัณฑ์ไทย

วันพิพิธภัณฑ์ไทย ตรงกับวันที่ 19 กันยายนของทุกปี

          เมื่อพูดถึง "พิพิธภัณฑ์" คนส่วนใหญ่ในบ้านเรามักไม่นิยมเข้าไปสักเท่าไร แต่เวลาไปต่างประเทศน่าแปลกที่ว่า สถานที่ที่เราหรือนักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมากในแต่ละปี กลับกลายเป็น "พิพิธภัณฑ์ " ทั้งๆ ที่ต้องเสียเงินค่าเข้าชมมิใช่ราคาถูก ๆ

          ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น... ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึกของคนส่วนมากมักคิดว่า "พิพิธภัณฑ์ไทย" คร่ำครึล้าสมัย เมื่อเข้าไปแล้วไม่โก้เก๋เหมือนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ในยุโรปหรืออเมริกา ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ของเราได้พัฒนาไปแล้วไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน และยังมีรูปแบบที่หลากหลายให้เลือกชม ยิ่งในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่สอนให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้านอกเหนือไปจากการเรียนการสอนในระบบแล้ว "พิพิธภัณฑ์" นับได้ว่าเป็น "แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต" ที่สำคัญยิ่งในขณะนี้  

          ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ทางด้านซีกโลกตะวันตก ได้มีการตื่นตัวในด้านการเก็บรวบรวม และสะสมทรัพย์สมบัติ และมรดกต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ ที่หายากและแปลก ๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติอันเป็นการแสดงถึงความเป็นใหญ่ และความมั่งคงของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้น จะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาตินั้น ๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติ มาประมวลเป็นหลักฐานให้ชีวิตของชนในชาตินั้นได้  

          สำหรับในประเทศไทยนั้น ผู้ริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุสิ่งต่าง ๆ เป็นคนแรกได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ และต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า "พิพิธภัณฑ์" ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพราะจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้ง "มิวเซียม" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417

          เส้นทางพิพิธภัณฑสถานไทย ที่เริ่มต้นจากพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่พิพิธภัณฑสถานประชาชน และพัฒนาต่อไปจากพิพิธภัณฑสถานที่เก็บรักษาสรรพสิ่งทั่วไป ไม่กำหนดประเภทแน่นอน มาเป็นพิพิธภัณฑสถานมากมายหลายประเภท ตามลักษณะของศิลปวิทยาการที่เกิดขึ้นในโลก ทั้งทางศิลปะวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา สังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่น ๆ เป็นจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ และยังได้ยกระดับกิจการพิพิธภัณฑ์ไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

          โดยเข้าเป็นสมาชิกสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ซึ่งให้คำจำกัดความว่า "พิพิธภัณฑ์" ว่ามิใช่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม สงวนรักษาศึกษาวิจัย และจัดแสดงเฉพาะวัตถุเท่านั้น แต่พิพิธภัณฑ์ไดัรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ จากหลักฐานในอดีต สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนัยนี้พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นแล้วกว่า 200 แห่ง และได้มีการพัฒนารูปแบบกิจการ ให้มีความเป็นสถาบันการศึกษานอกรูปแบบที่สำคัญอีกด้วย

          เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปี เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติได้รับพระราชทานพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนเป็นครั้งแรกจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2417 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน

          และเพื่อปลูกฝังให้คนไทยรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในวันพิพิธภัณฑ์ไทย โดยพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเปิดพิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ตลอดจนภูมิใจในความเป็นไทยโดยทั่วกัน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ,kapook.com




       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com