วันอนุรักษ์มรดกไทย
2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา
คำจำกัดความ "มรดกไทย"
"มรดกไทย คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา" (คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย)
วันอนุรักษ์มรดกไทย
ประวัติความเป็นมา
เมืองไทยของเรานับว่าเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ตลอดจนการดำเนินชีวิต และประเพณีต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมายาวนาน จนกลายเป็นมรดกไทยอันทรงคุณค่าและเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเรา
แต่เมื่อเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้มรดกไทย วัฒนธรรมไทยบางอย่างได้เปลี่ยนไป และลูกหลานไทยก็ไม่มีการรักษาไว้ซึ่งมรดกไทยอันล้ำค่าเหล่านี้ และถึงแม้จะมีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบในการดูแล แต่เนื่องจากมรดกไทยมีมากมาย และอาจไม่ทันกาลกับการเปลี่ยนไปของโลก จึงทำให้มรดกอันทรงคุณค่าของไทยบางส่วนได้ถูกทำลายไป
ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติขึ้น ซึ่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 รัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ และในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา
และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลยังได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทยอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย
1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
2. เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
4. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
5. เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถาน โบราณวัตถุให้น้อยลง
6. เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนทิศทางไป
กิจกรรมในวันอนุรักษ์มรดกไทย
หน่วยงานราชการร่วมกันจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เช่น
- การจัดนิทรรศการการจัดการแสดง การฉายภาพยนตร์ ทัศนศึกษาโบราณสถาน
- รณรงค์ให้มีการพัฒนา บูรณะและทำความสะอาดโบราณสถาน ศาสนสถาน
- กิจกรรมส่งเสริมอื่น ๆ ที่มีการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
lib.ru.ac.th ,kapok.com
|