วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หมายถึง วันระลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ เสี่ยงพระชนม์ชีพต่อสู้อริราชศัตรูและทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา และทรงกอบกู้เอกราชประกาศอิสรภาพจากการเสียกรุงครั้งที่ ๑
ประวัติสมเด็จพระสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระนเรศวร หรือ "พระองค์ดำ" เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกมีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรศ, องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช มาเป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชย์สมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา
ความเป็นมาของวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระกฤดาภินิหาร ในความเป็นนักรบที่กล้าหาญซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญในวีรกรรมที่ได้ทรงประกาศอิสรภาพ ทำให้เมืองไทยพ้นจากอำนาจของพม่า และเมื่อพม่ายกกองทัพมาเหยียบย่ำพื้นแผ่นดินไทยให้ตกอยู่ในอำนาจ กองทัพพม่าครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก มีพระมหาอุปราชาเป็นจอมทัพ ยกตีเข้ามาถึงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ยกกองทัพออกไปต่อสู้ ในที่สุด สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช ในท่ามกลางเหล่าทหารข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ฟันต้องพระอังสาของพระมหาอุปราชาขาดสิ้นพระชนม์ชีพอยู่กับคอช้าง สมเด็จพระนเรศวรและกองทัพไทยได้รับชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ เป็นที่เลื่องลือพระบรมเดชานุภาพไปยังประเทศใกล้เคียง
เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า เจดีย์ยุทธหัตถี
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จ พระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งขณะนั้น เจดีย์ยุทธหัตถียังเป็นมูลดินปกคลุมด้วยต้นไม้
ในปีต่อมารัฐบาลได้ตระหนักถึงพระราชวีรกรรมและคุณูประการอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อประเทศชาติไทยอันควร จะได้เทิดทูนพระเกียรติยศให้ปรากฎเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์และประกาศให้ถือวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทยและ กองทัพไทยจึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโดยครอบองค์สถูปมูลดินนั้นไว้ เมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว คณะรัฐมนตรีโดยมีจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานเป็นงานรัฐพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี เป็น “วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี แทนวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ อันเป็นการนับทางจันทรคติ โดยให้มีการวางพวงมาลาและสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ ให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองดังกล่าว ก็ด้วยว่าเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันคุ้นชิน จำได้ง่าย และมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ ๑๘ มกราคมดังกล่าว ดังนั้น ในปัจจุบัน วันที่ ๑๘ มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”
กิจกรรมวันสมเด็จพระนเรศวร
วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ทรงออกรบเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย ทำให้ชาวไทยต่างน้อมใจกันร่วมถวายสักการะและความจงรักภักดีด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พิธีวางพวงมาลา
ทำบุญตักบาตร
จัดนิทรรศการวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่มา: www.dwr.go.th, www.oknation.net, www.pp.ac.th, www.phitsanuloklife.com ,www.social.nu.ac.th, www.webhost.cpd.go.th
|