วันเด็กแห่งชาติ
จากคำกล่าวที่ว่า อนาคตของประเทศชาติ จะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งต้องขึ้นอยู่กับ คุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ การพิทักษ์รักษาคุ้มครองทางด้านกฎหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ เพราะถือว่า เด็กคิอมนุษย์ที่ยังอ่อนอยู่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมาย ของคำว่า “เด็ก” ไว้ดังนี้
เด็ก หมายถึง คนที่มีอายุยังน้อย ยังเล็ก
เด็กชาย คือ คำนำเรียกเด็กผู้ชายที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์
เด็กหญิง คือ คำนำเรียกเด็กผู้หญิงที่มีอายุไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์
ความเป็นมาของวันเด็กสากล
เมื่อปีพุทธศักราช 2498 ได้เกิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ ของตนมากขึ้น การขานรับในการนี้จากประเทศต่าง ๆ เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเอง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศต่างก็จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของประเทศตนขึ้นมา โดยกำหนดกันว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ
การจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติในแต่ละประเทศขณะนั้นมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ โดยยึดหลักการให้ความสำคัญแก่เด็กเป็นวัตถุประสงค์หลักโดยเปิดสถานที่ราชการที่สำคัญเช่น พิพิธภัณฑ์ รัฐสภา เป็นต้น ให้เด็ก ๆ ได้เข้าชมและศึกษา บางแห่งจัดการแสดงมหรสพ มีการแจกอาหาร แข่งขันเกม แจกของขวัญ ฯลฯ ต่อมางานนี้ได้รับความสำคัญทั่วโลกจึงได้จัดกันแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันเด็กในประเทศไทย
ปีพุทธศักราช 2498 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้นตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็กขึ้นมา
ประเทศไทยได้รับข้อเสนอของนาย วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ ผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่
ขณะนั้นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติยังมิได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ในที่สุดที่ประชุมได้เห็นชอบ นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม พ.ศ.2498 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับหลักการให้จัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ ส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดงานั้น ได้อนุมัติเงินจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการ
ดังนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมาทางราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติสำหรับประเทศไทย และจัดติดต่อกันมาจนถึงปี พ.ศ.2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้นมีความเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสมด้วยเหตุผลว่า ในเดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทยเราเป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการมาร่วมงาน ประการต่อไปก็คือ วันจันทร์เป็นวันปฎิบัติงานของผู้ปกครองจึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด จึงเห็นว่าควรจะเปลี่ยนไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมเสียทุกสิ่งทุกอย่างได้สะดวกสบายขึ้น และมีความเหมาะสมมากกว่า
จากข้อเสนอดังกล่าว คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี พ.ศ.2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว
งานวันเด็กแห่งชาติได้เริ่มจัดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2508 และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาได้ 38 ปีแล้ว (งดจัดในปี พ.ศ.2507 หนึ่งปี)
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันเด็กแห่งชาติ
เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ วันเด็กแห่งชาติ
ข้อ 1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม
ข้อ 2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน
ข้อ 3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติ แต่กำเนิด
ข้อ 4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้วโดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย
ข้อ 5. เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ
ข้อ 6. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบคร้ว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ
ข้อ 7. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับควาาามสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย
ข้อ 8. เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี
ข้อ 9. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาติเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาาจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง
ข้อ 10. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา ” ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพลกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
คำขวัญ วันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2499 – 2560
ในปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคิด สำหรับเด็ก นายกรัฐมนตรี ในสมัยต่อๆมา จึงได้ถือปฎิบัติสืบต่อมา
|