สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร

              พระนามเดิมของพระองค์ เดิมว่า สมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา ๔๕ นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

              ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติกาลต่างปลาบปลื้มปิติ ชื่นชมโสมนัส แซ่ซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติสวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์เสด็จพระราชสมภพว่า

              “…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา ๑๗ นาฬิกา กับ ๔๕ นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆดวง นายแพทย์ ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือ พระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโยโฮ่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว…ดวงใจทุกดวงมีความสุข…”

              นับแต่นั้นมา ประชาชนชาวไทยต่างเฝ้าติดตามข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ด้วยความจงรักภักดี และต่างปลาบปลื้มปิติ ชื่นชมโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญวัย มีพระสุขภาพพลานามัยแข็งแรง เพียบพร้อมด้วยพระราชจริยวัตรและพระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

การศึกษา

              สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต และทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนจิตรลดา ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๙๙ –๒๕๐๕ ที่ประเทศอังกฤษระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๙ – ๒๕๑๓ หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต (การศึกษาด้านทหาร)คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาเวลล์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ ๕-๖ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ และทรงได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ครั้งถึง พ.ศ.๒๕๓๓ ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย

              เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ปวงชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

              “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒฯ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร” ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฎิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรอย่างยิ่ง ดังความว่า

              “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรท่ามกลางสันนิบาตรนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภัคดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่” บัดนี้กาลเวลาผ่านไป ได้เป็นที่ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงยึดมั่นในพระปฎิญญาทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฎิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ ดังปรากฎว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศตลอดมา จึงทรงสามารถสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ดังนั้น จึงทรงปฏิบัติพระภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เมื่อพระชนมายุ ๑๑ พรรษา ได้ทรงนำกองลูกเสือสำรองโรงเรียนจิตลดาเข้าร่วมพิธีสวนสนาม ลูกเสือไทย ณ สนามกีฬาแห่งชาติ

อภิเษกสมรส

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ

              หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ) เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐

              นางสาวยุวธิดา ผลประเสริฐ (หรือ หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันคือ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์)

              นางสาวศรีรัศมิ์ อัครพงศ์ปรีชา (หรือ หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ) เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๔

พระราชโอรส-พระราชธิดา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชธิดา ที่ประสูติแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ๑ พระองค์ คือ

               พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาประสูติเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาอีก ๑ พระองค์ กับ ๔ องค์ ที่ประสูติแต่ คุณสุจาริณี วิวัชรวงศ์

               หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล (ท่านอ้วน) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ (ปัจจุบัน คือ คุณจุฑาวัชร วิวัชรวงศ์)

               หม่อมเจ้าวัชรเรศร มหิดล (ท่านอ้น) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ (ปัจจุบัน คือ คุณวัชร วิวัชรวงศ์ )

               หม่อมเจ้าจักรีวัชร มหิดล (ท่านอ่อง) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ (ปัจจุบัน คือ คุณจักรี วิวัชรวงศ์ )

               หม่อมเจ้าวัชรวีร์ มหิดล (ท่านอิน) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘ (ปัจจุบัน คือ คุณวัชรวีร์ วิวัชรวงศ์ )

               หม่อมเจ้าหญิงบุษย์น้ำเพชร มหิดล (หรือ หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรี มหิดล ปัจจุบันทรงพระนามว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์)

และทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ๑ พระองค์ คือ

                พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

พระราชกรณียกิจ

              เมื่อทรงพระเจริญวัยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ นานัปการ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เอง พระราชกรณียกิจทั้งปวงล้วนมีการสร้างสรรค์ความผา สุขสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่ประเทศ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา การศาล การสังคมสงเคราะห์ การพระศาสนา การต่างประเทศ และการศึกษา ฯลฯ

              ในด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขนั้น ทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคลอันมีคุณภาพไว้เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เนื่องในพระราชพิธีอภิเษกสมรสจำนวน ๒๑ แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยเพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ทรงรับเป็นประธานกรรมการอำนวยการจัดสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น

              ในด้านการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ๖ โรงเรียนได้แก่โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดนครพนม กำแพงเพชร สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดอุดรธานี สงขลา และ ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าสิริวัณวรี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และในด้านอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี

              ในด้านสังคมสงเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาห่วงใยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาสและขาดแคลน ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง โปรดเกล้าฯให้กรมทหารในบังคับบัญชาของพระองค์ ร่วมกับประชาชนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลทีมีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

              ในด้านการต่างประเทศนั้น การมีสัมพันธไมตรีอันดีกับมิตรประเทศ เป็นรากฐานสำคัญของความสงบสุขและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ สมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ก็ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เสมอมา ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปีปีละหลายครั้งเช่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ถึง ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้ง เสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ทรงพบ สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ประเทศต่างๆที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง มีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศอิหร่าน ประเทศเนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา สหพันธ์เอกวาดอร์ สาธารณรัฐเฮอลนิก(กรีซ)ประเทศออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ ๒-๔ กรกฏคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ไป ทรงเยือนประเทศสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกครั้ง ต้องทรงเตรียมพระองค์ด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่จะทรงเสด็จไปทรงเยือน และระหว่างประทับอยู่ในประเทศนั้นๆ นอกจากทรงมุ่งมั่นที่จะทรงเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตและศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทรงนำมาเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาบ้านเมืองไทยด้วย เช่น เสด็จไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร การจราจรทางอากาศ เมื่อทรงเยือนประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อทรงเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา ทอดพระเนตรการดำเนินงานด้านการป้องกันสาธารณภัยที่ประเทศเกาหลี เป็นต้น

              ในด้านการเกษตรกรรม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรกรรมอันเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทยตลอดมา เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ และ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักเป็นปฐมฤกษ์จากผักตบชวาและพืชอื่น ๆ ณ บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอ บางนางบวช และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในการทำนาสาธิตโดยใช้ปุ๋ยหมัก ณ ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัด สุพรรณ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ในการนี้ ได้ทรงปฏิบัติการสาธิตการทำนาด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชทานอุปกรณ์ การทำนา พันธ์ข้าวปลูก และปุ๋ยหมักให้ข้าราชการ ผู้ใหญ่ไปดำเนินการสาธิตแล้ว ได้ทรงถอดฉลองพระบาท ถลกพระสนับเพลา ทรงพระดำเนินลุยโคลน หว่านพันธ์ข้าวปลูกและปุ๋ยหมักในแปลงนาสาธิต โดยมิได้มีกำหนดการไว้ก่อน ยังความชื่นชมโสมนัสปลาบปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรแก่บรรดาข้าราชการและประชาชนที่มาเฝ้าทูลสะอองพระบาทในพิธีการวันนั้นเป็นอย่างยิ่ง

              ในด้านการพระศาสนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และมีพระราชศรัทธาทรงออกผนวชในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ระหว่างทรงผนวช ทรงศึกษา และปฎิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกิจทางศาสนาเป็นประจำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่างๆ เป็นต้น

              ในด้านการศึกษา ทรงปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เองนานัปการ เช่น การพระราชทานไฟพระฤกษ์ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จนำเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดี ซึ่งนักกีฬาของไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีความปลาบปลื้มในสิริมงคลและมีขวัญกำลังใจที่จะนำความสำเร็จและนำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติต่อไป และเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

              พระราชกรณียกิจทางด้านการทหาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน กล่าวคือ ระหว่างเดือนมกราคม ถึง ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฎิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ เดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ – มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอช – ๑ เอช และหลักสูตรการฝึกบิน เฮลิคอปเตอร์โจมตี แบบ เอ เอช – ๑ เอส คอบรา ของบริษัทเบบล์ นอกจากนั้นยังทรงเข้าการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะทรงเห็นได้ว่า พระองค์ท่านมีพระประสบการณ์และทรงเชี่ยวชาญการบินในระดับสูงมาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก กระทรวงกลาโหม วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเนื่องด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๐ พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฎิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ – ๕ อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตระวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ้งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaigoodview.com ,http://crownprince.msu.ac.th/




       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com