รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาตลอด 800 ปี ภายใต้การปกครอง
แบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สามารถรวบรวมดินแดนจนเป็นปึกแผ่นเป็นอาณาจักรสุโขทัย
โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ แนวคิดการปกครองแบบราชาธิปไตยสมัยแรกเริ่มตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาฮินดู
(ซึ่งรับเข้ามาจากจักรวรรดิขะแมร์) และหลักความเชื่อแบบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทซึ่งแนวคิดแรกนั้นมาจากวรรณะ "กษัตริย์"
ของศาสนาฮินดู เนื่องจากพระมหากษัตริย์จะได้รับอำนาจมาจากอำนาจทางทหาร ส่วนแนวคิดที่สองมาจากแนวคิด "ธรรมราชา" ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 อันเป็นแนวคิดที่ว่า
พระมหากษัตริย์ควรจะปกครองประชาชนโดยธรรม
สมัยกรุงสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า "พ่อขุน" มีความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนมาก หลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีพระนามขึ้นต้นว่า "พญา"
เพื่อยกฐานะกษัตริย์ให้สูงขึ้น ในรัชกาลพญาลิไทพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ เฟื่องฟูมาก จึงมีแนวคิด ธรรมราชา ตามคติพุทธขึ้นมา ทำให้พระนามขึ้นต้นของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลพญาลิไทเรียกว่า "พระมหาธรรมราชา" ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับคติพราหมณ์
มาจากขอม เรียกว่า เทวราชา หรือ สมมติเทพ หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพมาอวตารเพื่อปกครองมวลมนุษย์
ทำให้ชนชั้นกษัตริย์มีสิทธิอำนาจมากที่สุดในอาณาจักรและห่างเหินจากชนชั้นประชาชนมากขึ้น คำขึ้นต้นพระนามเรียกว่า "สมเด็จ"
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจด้านการปกครองถูกโอนมาเป็นของรัฐบาลพลเรือน
และทหาร พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
|