พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (อังกฤษ: Her Royal Highness Princess Bajrakitiyabha) พระราชธิดาองค์แรกใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (ม.ล.โสมสวลี กิติยากร) ทรงเป็นพระราชนัดดา พระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
การศึกษา
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงสนพระทัยที่จะศึกษาในสาขารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มาตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ในระดับมัธยมแล้ว ดังนั้นเมื่องทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๖) จากโรงเรียนจิตรลดาได้สอบคัดเลือกตามกระบวนการของทบวงมหาวิทยาลัยเลือกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอันดับ ๑ และทรงสามารถสอบคัดเลือกได้เมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๐ ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ในสถาบันนี้ทรงปฎิบัติพระองค์เช่นเดียวกับนักศึกษาทั่วไป รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางด้านกีฬา การบำเพ็ญประโยชน์ และอื่นๆ อาทิทรงเข้าร่วมกิจกรรมฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์โดยทรงเป็นผู้อัญเชิญธรรมจักรในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งที่ ๕๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ทรงเข้าร่วม แสดงในขบวนพาเหรดชุด “เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครบ ๗๒ พรรษา” ในการแข่งขันกีฬาประเพณีครั้งที่ ๕๕ (พ.ศ.๒๕๔๒) เป็นต้น
ด้วยทรงมีวิริยะอุสาหะในการศึกษาจึงทรงใช้เวลาศึกษาเพียง ๓ ปีครึ่ง สำเร็จการศึกษาในภาคที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๓ เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสองด้วยคะแนนเฉลี่ยร้อยละ ๗๗.๖๔ นับเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ในประเทศไทยจากการสอบคัดเลือกตามระบบอุดมศึกษาไม่เพียงแต่ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดของประเทศไทยคือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชอีกด้วย โดยสนพระทัยการเมืองการปกครอง ทรงสมัครศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเมืองการปกครอง เปรียบเทียบเมื่อปีการศึกษา ๒๕๔๐(ควบคู่กับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ทรงสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลา ๓ ปีครึ่ง รวมคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ๓.๙๒ สูงสุดของสาขารัฐศาสตร์โดยทรงได้รับเหรียญทองเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และทรงได้รับพระราชทานเข็มทองคำตรีศรด้วย
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศแล้วพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชากฏหมาย ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม 2544 ด้วยทรงทุ่มแทและทรงค้นคว้าทบทวนบทเรียนอย่างต่อเนื่องใช้เวลาเพียง ๑ ปี ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชากฏหมาย(MasterofLaw(LL.M.))เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕ ภายหลังที่ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้วพระองค์ทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเดียวกัน สำหรับการศึกษาต่อในระดับนี้ ต้องใช้ความสามารถและความพยายามอย่างมาก โดยทรงค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย และรวบรวม ข้อมูลต่างๆ ด้านกฏหมาย ทั้งในระบบจารีตประเพณี (Common Law) และระบบประมวลกฏหมาย(CivilLaw) เพื่อนำมาประกอบเป็นวิทยานิพนธ์เสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำเนินการตามขั้นตอนการสอบและพิจารณาของมหาวิทยาลัย ในที่สุดได้สำเร็จการศึกษาสภามหาวิทยาลัยคอร์แนลถวายการอนุมัติปริญญาเอกหรือปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางกฏหมาย (J.S.D = Doctor of Juridical Science) เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกเรื่อง”สู่ความยุติธรรมอย่างเสมอภาค: การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลย ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย…..ศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศฝรั่งเศสและประเทศสหรัฐอเมริกา” (Towards Equal Justice : Protection of the Accused in the Thai Criminal Justice Process ……A Comparison with France and the United States ) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ ระบบการดำเนินคดีความอาญาของระบบกล่าวหา (Accusatorial system) หริอระบบปฏิปักษ์ (Adversary System) กับระบบการดำเนินคดีอาญาในระบบไต่สวน (Inquisitorial System) พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ ๕๗ ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๗ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีความสนพระทัยในงานภารกิจของพนักงานอัยการ มานานแล้ว โดยระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทรงเคยไปทำงานฝึกอบรมที่สำนักงานอัยการนครนิวยอร์ก และปัจจุบันทรงเข้ารับราชการเป็นข้าราชการอัยการเมื่อวันที่1กันยายน2549 ระหว่างการทดสอบความรู้วิชากฎหมายเฉพาะการสอบปากเปล่าพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับสั่งว่าทรงสนพระทัยในภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุดเพราะงานอัยการมีความหลากหลายมีงานหลายด้านทั้งคดีอาญาคดีแพ่งงานด้านต่างประเทศ และโดยเฉพาะงานเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดกำลังถวายการฝึกอบรมหลักสูตรอัยการผู้ช่วยภาควิชาการ รุ่นที่ ๓๙ พ.ศ. ๒๕๔๙ ระหว่างวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๙ – ๒ กุมภาพันธ ๒๕๕๐ พร้อมคณะอีก ๕๙ คน
พระกรณียกิจ
ด้านกฎหมาย
• พ.ศ.๒๕๔๙ – อัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด
• พ.ศ.๒๕๕๐ – อัยการประจำกอง(ข้าราชการอัยการชั้น ๒) สำนักงานคดียาเสพติด
• พ.ศ.๒๕๕๑ – อัยการจังหวัดผู้ช่วย(ข้าราชการอัยการชั้น ๒) สำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธนี
• พ.ศ.๒๕๕๒ – รองอัยการจังหวัดอุดรธานี (ข้าราชการอัยการชั้น ๓) สำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี
มูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก สภากาชาดไทย
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เริ่มต้นจากการดำเนิน โครงการอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งมีขึ้นในขณะที่มีอุทกภัยครั้งร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ และมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จนภาคราชการและองค์กรการกุศลที่มีอยู่มิอาจให้ความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง จนเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันระหว่างประชาชนอันเกิดจากความเครียดอันเนื่องมาจากการป้องกันน้ำให้ท่วมในวงจำกัด ผู้ที่เดือนร้อนจึงรู้สึกว่าขาดที่พึ่ง ขาดความเห็นอกเห็นใจ ต้องได้รับความเดือดร้อนเฉพาะชาวพื้นที่ของตนเอง ขณะที่พื้นที่ติดกันได้รับความสะดวกสบายอย่างเป็นปกติ ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๙ ตุลาคม เป็นวันที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงออกปฏิบัติภารกิจในโครงการ ฯ เป็นครั้งแรก โดยเสด็จออกรับน้ำใจจากผู้ไม่ประสบอุทกภัยที่สถานีบริการน้ำมัน ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย ได้เสด็จพระดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนที่ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๓๔ เขตบางกอกน้อย ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๘๒, ๘๔ และ ๘๖ เขตบางพลัด การออกปฏิบัติพระกรณียกิจในครั้งนี้ส่งผลให้เหตุการณ์สงบลงอย่างปาฏิหารณ์ จากนั้นมาโครงการ ฯ ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิที่ผู้บริจาคสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๔ และได้พัฒนาการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา
โครงการกำลังใจในพระดำริ
ทรงก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔เมื่อครั้งยังทรงเป็นนักศึกษากฎหมาย โดยครั้งแรก เสด็จเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้วยความสนพระทัยในสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง
โครงการนี้ได้ขยายความช่วยเหลือไปยัง “เด็ก” ที่ติดท้องแม่ก่อนเข้าจำคุก รวมทั้ง “ผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ” อีกด้วยและเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง ได้กระจายไปทั่วโลก ทรงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอและยกร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำต่อสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อ “Enhancing Life for Female Inmates: ELFI”
มูลนิธิ/องค์กรในพระอุปถัมภ์
มูลนิธิกุมาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พระเกียรติคุณ
รางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี ๒๕๔๔
วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๓ คณะกรรมการรางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี ๒๕๔๔ เป็นกรณีพิเศษแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ด้วยทรงเป็นตัวอย่างในด้านการศึกษาและด้านกิจกรรมนักศึกษา โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า ตลอดเวลาที่ทรงศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนักศึกษาทั่วไปทั้งในด้านการศึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ
รางวัล Medal of Recognition
หน่วยงาน UNODC (ยูเอ็นโอดีซี) สหประชาชาติ จากทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติหลายอย่างเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนพัชรกิติยาภา เพื่อการศึกษากฎหมาย การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โครงการกำลังใจ ในพระดำริฯ โครงการจัดทำมาตรฐานผู้ต้องขังหญิง หรือ ELFI (เอลฟี)การทรงงานด้านกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ จึงพิจารณาทูลเกล้าถวายรางวัลกียรติยศสูงสุดจากสหประชาชาติ
ทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador)
ดร.จีน เดอคูน่า ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงาน โครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระองค์ทรงประทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ต้องขังสตรีและเด็กติดผู้ต้องขัง และทรงประทานความช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี ซึ่งหน่วยงาน UNIFEM รู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในพระกรณียกิจที่ทรงช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย โดยหน่วยงาน UNIFEM ขอพระราชทานกราบทูลเชิญพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง
ปริญญากิตติมศักดิ์
• พ.ศ.๒๕๔๙ ปริญญากิตติมศักดิ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
• พ.ศ.๒๕๕๑ ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
• พ.ศ.๒๕๕๒ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
• พ.ศ.๒๕๕๓ ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
• พ.ศ.๒๕๕๓ ปริญญานิติศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
• พ.ศ.๒๕๕๓ ปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/พระเจ้าหลานเธอ_พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ,http://www.thaimonarch.org/?p=96
|