ยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เป็นอาวุธหรือไม้ตาย

      ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันใช้ในการบอกคนไทยและชาวโลกว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนที่โดดเด่นใน AEC และไทยจะอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้ คือ ไทยจะหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ในอนาคตอันใกล้เพื่อมุ่งไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปีข้างหน้า

      โดยใช้พื้นที่ EEC เป็นประตูเชื่อมไทยสู่โลก และเปิดโลกเข้าสู่ AEC ผ่านระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนมุ่งเน้นให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Economy) ผ่านผู้ประกอบการที่เน้นการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเน้นนวัตกรรม (Innovation Driven Entrepreneur หรือ IDE)

       ในวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะได้เดินทางไปท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับการพัฒนา EEC

        ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีการพบปะหารือกับนักธุรกิจข้ามชาติรายใหญ่ พร้อมกับนักธุรกิจในประเทศกว่า 20 รายที่สนใจลงทุนในโครงการ EEC การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและเทศมีความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลจะมีแนวนโยบายอะไรและอย่างไรกับ EEC พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า "วัตถุประสงค์ของ EEC คือต้องการสร้างฐานเศรษฐกิจในประเทศ โดยเหตุผลเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ ดังนั้น ต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากเน้นการเจริญเติบโตภายในให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0 โดย EEC ถือเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ไม่ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง วันหน้าอาจจะมีระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ใต้ ออก ตก เชื่อมต่อด้านเศรษฐกิจกับประชาคมโลก"

         โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0 ทั้งนี้ รัฐบาลจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลง ทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเรียกว่า First S-curve และ New S-curve ซึ่งประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  2.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ 4.อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 5.การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ 6.เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ 7.อุตสาหกรรมการบิน 8.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10.การแพทย์ครบวงจร

         ทั้งนี้ เป้าหมายการลงทุนในพื้นที่ EEC ของภาครัฐบาลจะมีไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาท การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 4 แสนล้านบาท การลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย 4 แสนล้านบาท และการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและสุขภาพ 2 แสนล้านบาท ตามแผนของ EEC คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการใช้พื้นที่เพื่อการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 70,259 ไร่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 18,000 ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ 7,259 ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การเกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ 21,500 ไร่ อุตสาหกรรมการบิน 500 ไร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 20,000 ไร่ และอุตสาหกรรมดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร 3,000 ไร่ พื้นที่ 3 จังหวัดใน EEC จะแบ่งเขตส่งเสริมและพัฒนาเป็น 6 เขต คือ 1.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไบโอเทคโนโลยีและอาหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา 2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษยานยนต์อนาคต จังหวัดชลบุรี 3.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 4.เขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษอุปกรณ์อากาศยาน จังหวัดระยอง 5.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและไบโออีโคโนมี จังหวัดระยอง 6.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ข้างเคียงจังหวัดระยอง

          สำหรับการวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ใน 3 จังหวัดใน EEC จะวางให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าอยู่ รองรับกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก, พื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาทักษะนานาชาติ, พื้นที่อำเภอศรีราชาและแหลงฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นเมืองแห่งสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยกับสถานที่ทำงาน, พื้นที่เมืองพัทยาและสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพและเชิงสุขภาพระดับโลก, พื้นที่อู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นที่ตั้งศูนย์ให้บริการอากาศยานและพาณิชย์นาวีของภูมิภาคในอนาคต และพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมพลังงาน   ในช่วงของการพัฒนาโครงการ EEC ระหว่างปี 2560-2565 ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลหวังว่าจะสามารถยกระดับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจาก 3% ไปสู่ระดับ 5% ต่อปี และสามารถสร้างงานใหม่ปีละ 1 แสนอัตรา สร้างฐานภาษีใหม่ปีละ 1 แสนล้านบาท ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ได้ปีละ 4 แสนล้านบาท อีกทั้งจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 รวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่มา :https://logistics2day.com/news/aec-insight/2072-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88-eec-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88-thailand-4-0




       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com