กุ้ยย้ง เมื่องานจิตอาสาคือยารักษาโรคร้าย

20,091อ่าน

4

กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ

กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทีวีบูรพา

           ใครหลาย ๆ คน เคยตีค่า "กุ้ยย้ง แซ่ล้อ" หญิงสาววัยเกือบ 50 ปี ในอำเภอเบตง เป็นเพียงผู้ป่วยจิตเวทขั้นรุนแรง และไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วย แต่ ณ วันนี้ "กุ้ยย้ง แซ่ล้อ" กลับกลายเป็นขวัญใจของผู้คนมากมายในโรงพยาบาลเบตง ในฐานะผู้ปฏิบัติงานจิตอาสา

           เป็นประจำทุกเช้าที่ "กุ้ยย้ง แซ่ล้อ" หญิงไทยเชื้อสายจีนที่ตั้งรกรากอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จะเริ่มทำหน้าที่ของตัวเองในโรงพยาบาลเบตง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะมาถึง แม้ "กุ้ยย้ง" จะไม่มีหัวหน้า ไม่มีใครคอยบังคับบัญชาให้ "กุ้ยย้ง" ทำงานอย่างนั้น ทำงานอย่างนี้ และไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ แต่เธอใช้ "จิตใจ" อันเต็มเปี่ยมไปด้วย "น้ำใจ" ในการสั่งให้ตัวเองทำงานจิตอาสาภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ 

 

กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ


           หน้าที่แรกของ "กุ้ยย้ง" ในทุก ๆ เช้า คือการจัดเตรียมอุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องมือทางการแพทย์ที่แผนกอายุรกรรมตั้งแต่เช้าตรู่ จากนั้นเธอจะคอยช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งยังเป็นพนักงานต้อนรับ คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่ผู้ที่มาติดต่อโรงพยาบาล ช่วยผู้ป่วยวัดความดัน ชั่งน้ำหนัก และด้วยความที่ "กุ้ยย้ง" พูดได้ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาที่ชาวมุสลิมในอำเภอเบตงพูดกัน "กุ้ยย้ง" จึงรับหน้าที่ช่วยเป็นล่ามให้กับคนไข้หลากหลายเชื้อชาติไปในตัว จนกลายเป็นภาพชินตาของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยหลาย ๆ คนไปแล้ว เรียกได้ว่า หากพูดถึงโรงพยาบาลเบตง ต้องนึกถึง "กุ้ยย้ง"

          "งานบริสุทธิ์อย่างนี้ชอบทำ ไม่มีอะไรต้องเขิน ต้องอาย เพราะทำแล้วสบายใจ มีความสุข ดีใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น" กุ้ยย้ง กล่าวถึงงานจิตอาสาที่เธอรัก

 

กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ


กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ


          ในช่วงเย็น หลังเลิกงานที่แผนกอายุรกรรมแล้ว "กุ้ยย้ง" ก็จะกลับมาที่หอพักผู้ป่วย อันเป็นที่หลับนอนของเธอ แต่เธอก็ยังไม่ได้นอนหลับพักผ่อนตามที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่แล้ว "กุ้ยย้ง" จะเดินกลับมานั่งเหม่ออยู่ที่แผนกอายุรกรรม ซึ่งแทบไม่มีคนไข้นอก และเจ้าหน้าที่หลงเหลืออยู่แล้ว แต่ทุก ๆ วัน "กุ้ยย้ง" จะมานั่้งมองคนที่กำลังเดินกลับบ้าน ด้วยความรู้สึกคิดถึง "บ้าน" และ "ครอบครัว" ซึ่งเธอแทบไม่ได้สัมผัสกับคำ ๆ นั้น

          แต่ทุก ๆ เช้าวันพุธ "กุ้ยย้ง" จะเดินทางออกจากโรงพยาบาลกลับไปที่บ้านของเธอ โดยใช้เวลาเดินราว 1 ชั่วโมง เพื่อมาทำความสะอาดบ้าน ซักเสื้อผ้า เมื่อทำงานอะไรเสร็จสรรพแล้ว ในช่วงบ่าย "กุ้ยย้ง" ก็จะกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อทำกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือ "กลุ่มบำบัด" กับผู้ป่วยทางจิตเวทหลาย ๆ คน 

           นั่นอาจเป็นเพราะในอดีต "กุ้ยย้ง" เคยเป็นผู้ป่วยมาก่อน ซ้ำยังเป็นผู้ป่วยจิตเวทขั้นรุนแรง ทำให้เธอมีอาการทางจิต หวาดระแวง กลัว เห็นภาพหลอน เป็นโรคซึมเศร้า และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากสารสื่อสมองในประสาทผิดปกติ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ครอบครัวของเธอต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับ "กุ้ยย้ง" อีก แต่ ณ วันนี้ อาการของ "กุ้ยย้ง" ค่อย ๆ ดีขึ้น หลังจากเธอมาช่วยงานจิตอาสาได้ไม่นาน


 

กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ


กุ้ยย้ง
กุ้ยย้ง แซ่ล้อ



          หลายเดือนผ่านไป แทบไม่มีใครเชื่อว่า ณ วันนี้ "กุ้ยย้ง" สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติ กลับมาอยู่ที่บ้าน และอยู่ร่วมกับสังคมได้อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ "กุ้ยย้ง" แทบไม่มีเพื่อน วัน ๆ ได้แต่นั่งซึมเศร้า ขาดความอบอุ่นในชีวิต แต่ทุกวันนี้ "กุ้ยย้ง" มีเพื่อน และมีกำลังใจกลับมาเหมือนเดิม

           สุดท้ายแล้ว การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยจิตใจจิตอาสา กลับกลายเป็น "ยาขนานเอก" ที่่ช่วยบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตของ "กุ้ยย้ง" ให้ดีขึ้นราวกับปาฏิหาริย์ และด้วยจิตใจที่ดีงามนี้เอง ได้ช่วยให้ "กุ้ยย้ง" ฝ่าฟันอุปสรรคครั้งสำคัญของชีวิตมาได้ จนปัจจุบันเธอได้รับการยอมรับจากคนอื่น และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขดังเดิม


เขียนเมื่อ 2018-10-10 15:15:41  ผู้เขียน admin



       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com