คณะวิศวกรรมศาสตร์

วิศวกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำวิทยาการและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ คิดค้น ออกแบบ และประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ รวมทั้งการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาดัดแปลงและปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของมนุษย์ให้ดีขึ้น การศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ต้องมีพื้นฐานที่ดีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และมีความถนัดเชิงวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการต่อไปในภายภาคหน้า มีสาขาดังนี้

1.สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องการวิเคราะห์ การออกแบบและสร้างสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่นำเอาความรู้ทางด้านระบบดิจิตอลมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่าง ๆ ได้ และเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์

2.สาขาวิชาวิศวกรรมเคม เกี่ยวข้องกับการออกแบบ จัดสร่ง และกระบวนการในโรงงานอุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมี พลาสติก ยาง กระดาษ แก้ว เซรามิกส์ ปูนซิเมนต์ เส้นใย เครื่องอุปโภค บริโภค และสารเคมีพื้นฐาน เช่น กรด ด่าง แก๊ส สารละลาย เป็นต้น โดยศึกษาหลักการของกระบวนการผลิตต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนผสม สถานะ ภาวะ และลักษณะสมบัติของวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามต้องการอย่างปลอดภัย และประหยัด โดยเน้นการออกแบบอุปกรณ์ และโรงงาน กระบวนการอุตสาหกรรมเคมี การควบคุมปฏิกรณ์เคมีและกระบวนการ การคำนวณดุลมวล และพลังงาน ตลอดจนเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม

3.สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ศึกษาการวิเคราะห์ และออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักร และสิ่งประดิษฐ์ ออกแบบแปลนการติดตั้ง ควบคุมการใช้งาน ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ระบบความเย็น ระบบปรับภาวะอากาศ หม้อไอน้ำ กังหันไอน้ำ และระบบท่อประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางด้านประหยัดพลังงาน และพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เครื่องยนต์ เชื้อเพลิงผสม เป็นต้น

4.สาขาวิศวกรรมเรือ การศึกษา วิเคราะห์ การออกแบบ รวมทั้งการผลิตและการประกอบพาหนะทางน้ำชนิดต่าง ๆ ตลอดจนถึงการออกแบบระบบต่าง ๆ ภายในตัวเรือ เช่น ระบบขับเคลื่อน ระบบท่อ ระบบปรับอากาศ รวมถึงโครงสร้างข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ท่าเรือ อู่ต่อเรือ จึงเป็นวิชาชีพที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวิศวกรรมสาขาอื่น ๆ เช่น วิศวกรรมโยธา เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหกรรม โดยมีลักษณะที่นำเอาความรู้ในสาขานั้น ๆ มาประยุกต์ใช้ในทางเรือ

5.สาขาวิศวกรรมยานยนต์ เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลมาประยุกต์ใช้ในด้านการออกแบบและด้านการผลิต มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และรู้จักการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ทันสมัยอย่างมีประสิทธิภาพและรองรับความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย

6.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า การวิเคราะห์ ออกแบบ และสร้างสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์และระบบไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าสื่อสาร อีเล็กทรอนิคส์และระบบควบคุม โดยเน้นหนักด้านประสิทธิภาพในการทำงาน ความเชื่อถือได้ ความปลอดภัย ความประหยัดของสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว และเกี่ยวกับการใช้งาน การตรวจสอบวัสดุสิ่งประดิษฐ์ อุปกรณ์ ระบบดังกล่าวด้วย

7.สาขาวิศวกรรมโยธา ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ซึ่งครอบคลุมวิชาการด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่
วิศวกรรมสำรวจ เพื่อการจัดทำแผนที่จากภาคสนาม การสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายจากดาวเทียม
วิศวกรรมโครงสร้าง เกี่ยวกับหลักกลศาสตร์ของวัสดุและโครงสร้าง การทดสอบคุณสมบัติทางกล และกำลังของวัสดุทางวิศวกรรม การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างไม้ เหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง
วิศวกรรมปฐพ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางวิศวกรรมของดิน และหินเพื่อเป็นรากฐานของสิ่งก่อสร้างบนดิน ใต้ดิน และเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น อาคาร ถนน อุโมงค์ เขื่อนดิน
วิศวกรรมขนส่ง เกี่ยวกับการคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การออกแบบทางระบบการจราจร ระบบขนส่งมวลชน
การบริหารการก่อสร้าง เกี่ยวกับการวางแผนงานก่อสร้าง การจัดการขนส่ง เครื่องจักรกล บุคลากรและการเงินในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

8.สาขาวิศวกรรมโลหการ เป็นศาสตร์และศิลปะในการสกัดโลหะจากสินแร่ของมันแล้วทำให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจัดเตรียมและทำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งาน

9.สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงสภาวะแวดล้อม และสร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาของมนุษย์ ขอบเขตวิศวกรรมสุขาภิบาล ยังครอบคลุมถึงการแก้ปัญหาสุขอนามัยภายในโรงงานอุตสาหกรรม การขจัดมลพิษและมลภาวะของน้ำ อากาศ และอื่น ๆ อันสืบเนื่องมาจากอุตสาหกรรมและการอยู่อาศัย ในสาขาวิชานี้มีการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนป้องกันและรณรงค์กับมลภาวะต่าง ๆ ของสภาวะแวดล้อม

10.สาขาวิศวกรรมสำรวจ เกี่ยวกับการวางแผน การรังวัด การคำนวณและวิเคราะห์รายละเอียดของพื้นผิวโลก เพื่อนำมาใช้ในการทำแผนที่ แผนผังหรือกำหนดค่าพิกัด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จำเป็นสำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมต่าง ๆ เช่น การออกแบบทางหลวงและเขื่อน การรังวัดที่ดิน งานชลประทาน งานปฎิรูปที่ดิน งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และผลิตผลทางเกษตร และงานผังเมือง

11.สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ เกี่ยวข้องกับการผลิตแร่ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งเพื่อ นำมาใช้พัฒนาประเทศ

12.สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในการพัฒนาประเทศ

13.สาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับการวางแผน วิเคราะห์และควบคุมระบบการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม และการบริหารทางธุรกิจ โดยเน้นหนักเรื่องการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนการผลิต ศึกษาแก้ไขปัญหาทางการผลิต และปัญหาต่าง ๆ ของโรงงานอย่างมีระเบียบแบบแผน การวางแผนและการควบคุมการผลิต อีกทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงงานกับฝ่ายบริหารด้วย

14.สาขาวิศวกรรมวัสด ศึกษาเกี่ยวกับความเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งมุ่งเน้นเนื้อหาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของวัสดุ ทั้งการใช้งานและการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้หลักสูตรได้ครอบคลุมวิชาหลักที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โครงสร้าง สมบัติ กระบวนการ และสมรรถนะของวัสดุ เช่น การแพร่และจลศาสตร์ ปรากฎการณ์การถ่ายเท การจำแนกลักษณะเฉพาะทางโครงสร้างจุลภาคสมบัติทางกล และสมดุลของเฟส

15.สาขาวิศวกรรมการบินและอากาศยาน ศึกษาเกี่ยวกับพื้นฐานทางวิศวกรรมการบินและอากาศยาน 3 สาขา ซึ่งประกอบด้วยอากาศพลศาสตร์ และการขับดันอากาศยาน ระบบควบคุมอัตโนมัติและการควบคุมการบิน และการออกแบบโครงสร้างอากาศยาน การให้การศึกษามุ่งเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีจะมีการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านงานวิเคราะห์ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาใช้ในการศึกษา และในด้านปฏิบัติจะมุ่งเน้นการทดลองวิจัย เพื่อให้ทางปฏิบัติมีความคล่องตัวสูงสุด สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอากาศยานนี้ ให้การศึกษาครอบคลุมไปถึงส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมชีวกลศาสตร์ เป็นต้น

16.สาขาวิศวกรรมการอาหาร ศึกษาเกี่ยวกับหลักการของวิศวกรรมการอาหาร วิศวกรรมการแปรสภาพผลผลิตทางการเกษตรให้อยู่ในรูปของอาหาร วิศวกรรมเก็บรักษาอาหาร และวิศวกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูป นอกจากนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบวิเคราะห์และทดสอบเครื่องจักรกลอาหาร ศึกษาระบบควบคุมในการผลิต ตลอดจนการรักษาสภาพแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร

17.สาขาวิศวกรรมเกษตร ศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรม และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมในการผลิตทางการเกษตร การแปรสภาพและการเก็บรักษาผลผลิตเกษตรทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทฤษฎีของเครื่องจักรกลเกษตร การออกแบบเครื่องจักรกลเกษตร กำลังทางระบบการเกษตร การถ่ายเทความร้อนและมวลสาร วิศวกรรมการแปรรูปผลิตผลการเกษตร สมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์เกษตร รถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร ระบบและเครื่องจักรกลไฮดรอลิกนิวแมติก พัดลม เครื่องสูบและระบบการจ่าย การวัดและอุปกรณ์วัด การออกแบบเครื่องมือลำเลียงผลิตผลเกษตร วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมการเกษตร และการออกแบบ โครงสร้างอาคารเกษตร

18.สาขาวิศวกรรมชลประทาน ศึกษาเกี่ยวกับวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรมของสาขาต่าง ๆ และวิชาเฉพาะของสาขาวิศวกรรมชลประทาน ได้แก่ หลักการชลประทาน การออกแบบระบบชลประทานในไร่นาชนิดต่าง ๆ เช่น การให้นำแบบผิวดิน แบบฉีดฝอยและแบบหยด การวางแผนและออกแบบระบบการส่งน้ำ ระบบสูบน้ำและระบบระบายน้ำ การออกแบบอาคารชลประทานแบบต่าง ๆ เช่น เขื่อน ฝาย คลองส่งน้ำ และอาคารประกอบการพิจารณาวางโครงการ การจัดการเรื่องน้ำ การส่งน้ำและบำรุงรักษา การบริหารโครงการชลประทาน การประยุกต์คอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกรรมชลประทาน

19.สาขาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ศึกษาเกี่ยวกับกลศาสตร์ของของไหล ชลศาสตร์ อุทกวิทยาผิวดินและใต้ดิน วิศวกรรมแม่น้ำ วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำ วิศวกรรมชายฝั่ง การป้องกันและการระบายน้ำในชุมชนเมือง รวมทั้งการประยุกต์วิชาการเพื่อการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำทุกขนาด

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ ควรมีพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

แนวทางในการประกอบอาชีพ ทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม สำนักงานการพลังงานแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการ หรือทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคเอกชน

 

ที่มา  http://www.act.ac.th/service/info/jib/page/jib10.htm


เขียนเมื่อ 2018-10-10 15:07:39  ผู้เขียน admin



       

โปรแกรมนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทราเขต 2
209/1 หมู่ 3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 038 - 551456 ต่อ 27 : version 2.2.0 e-mail: ผู้พัฒนา tecs4online@gmail.com