การพัฒนาศักยภาพครู
การพัฒนาศักยภาพครู หมายถึง การพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ความชำนาญและความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้ง การพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา
ความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพครู
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ครูเป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาสังคมและชาติบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะครูต้องรับหน้าที่ในการพัฒนาบุคคลในสังคมให้มีความเจริญงอกงามอย่างเต็มที่ จนบุคคลเหล่านั้นสามารถที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป ดังนั้นการพัฒนาครูให้เป็นบุคคลที่มีศักยภาพอย่างที่สุด จึงเป็นงานที่นักวิชาการศึกษา / ผู้นิเทศ และ / หรือผู้บริหารการศึกษาจะต้องกระทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุป การพัฒนาครูก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ ดังนี้
1. การพัฒนาครู ช่วยพัฒนาคุณภาพและวิธีการทำงานของครู ทำให้ครูมีสมรรถภาพในการสอน มีความรู้เพิ่มขึ้น เข้าใจบทบาทหน้าที่และปฏิบัติ
หน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขข้อบกพร่องให้ดีขึ้น
2. การพัฒนาครู ช่วยทำให้เกิดการประหยัดเวลาและลดความสูญเปล่าทางวิชาการเพราะครูที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นครูที่มีคุณภาพนั้นย่อมไม่ทำให้
สิ่งใดผิดพลาดง่าย ๆ สามารถใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ทำการสอนนักเรียนได้ผลเต็มที่และตรงตามจุดประสงค์ ส่วนนักเรียน
ก็มีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่กำหนด
3. การพัฒนาครู ช่วยทำให้ครูได้เรียนรู้งานในหน้าที่ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่เพิ่งได้รับการบรรจุให้เข้าทำงานใหม่ ๆ และครูที่ย้าย
ไปทำการสอน ณ ที่ทำงานแห่งใหม่
4. การพัฒนาครู ช่วยแบ่งเบาหรือลดภาระหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้างานในสายงานต่าง ๆ เพราะครูที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี และอย่าง
ต่อเนื่อง จะมีความเข้าใจงาน การสอนและงานอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
5. การพัฒนาครู ช่วยกระตุ้นให้ครูปฏิบัติงานเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ การงานกล่าวคือ ทำให้ครูทุกคนมีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่ง
ทางการบริหารที่มีสถานภาพดีขึ้น
6. การพัฒนาครู ช่วยทำให้ครูเป็นบุคคลที่ทันสมัยอยู่เสมอ ทั้งในด้านความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมทั้งหลักการปฏิบัติงานและเครื่องมือ
เครื่องใช้ต่าง ๆ
การพัฒนาครูเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารการศึกษา เพราะงานทุกชนิดของสถานศึกษาจะดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและความร่วมมือของครู ถ้าครูขาดความรู้ความสามารถขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ไม่จงรักภักดีต่อหน่วยงานของตนเองและขาดความรับผิดชอบ ทะเลาะเบาะแว้งกัน แตกแยกความสามัคคี ต่างคนต่างอยู่และทำงานไปวัน ๆ โดยไม่ให้ความร่วมมือ กิจกรรมต่าง ๆ ที่สถานศึกษาได้วางไว้ก็จะประสบความล้มเหลว เพราะมีคนก็เหมือนไม่มีในเมื่อคนเหล่านั้นไม่ร่วมมือกันและหย่อนสมรรถภาพ
การพัฒนาครูจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารการศึกษา แม้ว่าครูทุกคนของสถานศึกษาจะมีความสามารถเพียงใดก็ตาม ถ้าเวลาผ่านไปนาน ๆ บรรดาความรู้ ความชำนาญก็ย่อมอ่อนลงไปเป็นของธรรมดา หรือบางทีการทำงานจำเจอยู่เสมอ ๆ งานที่ทำอาจจะกลายเป็นความเบื่อหน่ายได้เหมือนกัน
ดังนั้น การที่ผู้บริหารให้คำปรึกษา แนะนำช่วยแก้ปัญหาและส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้รับการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ครูทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีขวัญและกำลังใจ
ประโยชน์ของการพัฒนาศักยภาพครู
ความต้องการในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาอาชีพและบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ โดยเน้นการพัฒนาครูให้เป็นครูขั้นฝีมืออาชีพ การเร่งรัดพัฒนาครูจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ประโยชน์ของการพัฒนาศักยภาพครู คือ
1. สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เป็นที่ยอมรับเชื่อถือซึ่งกันและกันกับบุคคลทั่วไป
3. มีความก้าวหน้าในวิชาชีพของตนเองและชีวิตส่วนตัว
4. มีบุคลิกภาพที่ดี มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสูง
5. มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ร่วมมือในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศในการทำงานเป็นไปอย่างฉันท์มิตร
6. ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนร่วมงานและบุคลากร ในสถานศึกษาอื่น ๆ
7. เป็นผู้ที่รักความก้าวหน้าติดตามข่าวสารต่าง ๆ อยู่เสมอ จนเป็นคนที่ทันสมัยและทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
8. มีขวัญและกำลังใจดีอยู่เสมอ
9. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีอยู่เสมอ
|