นโยบายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2560
เทรนด์ (Trend) หมายถึง ทิศทาง แนวโน้ม หรือ สิ่งที่กำลังเป็นที่นิยม ณ เวลานั้น ๆ หากเรากำลังนึกถึงเวลานี้ (พ.ศ. 2559) เทรนด์เป็นอย่างไร เช่น การบริการดูแลผู้สูงอายุ อาหารเพื่อสุขภาพ การประกันชีวิต นั้นเทรนด์สุขภาพ การทำบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ พลังงานทางเลือก เกษตรหรืออาหารอินทรีย์ การปลูกผักออร์แกนิก นั้นเทรนด์การค้าขายหรือเศรษฐกิจ การเสริมหน้าปะจมูก ดัดฟัน การแต่งตัวออกแนวๆ นั้นเทรนด์ความงามและบริการ การบริการคอนเท้นท์ออนไลน์ พัฒนาซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น สื่อสารทางโซเซียลมีเดีย ( Facebook,Line) นั้นแนวโน้มด้านเทคโนโลยี การทำโยคะ นั่งสมาธิ ท่องเที่ยวอนุรักษ์ นั้นเทรนด์โน้มด้านศิลปะวัฒนธรรม ทั้งหมดช่วยขยายนิยามคำว่า “เทรนด์” ครับ
เทรนด์การศึกษาไทยตอบโจทย์การศึกษาโลกมีอะไรบ้าง?
กระทรวงศึกษาธิการไทย โดยการนำของ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำนโยบายสำคัญ ๆ เพื่อตอบโจทย์การศึกษาไทยและขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์การศึกษาโลกด้วย ซึ่งขอยกมา 10 เรื่องเด่น ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดังนี้
1. ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มุ่งแก้ปัญหาเด็กเรียนในห้องเรียนมากเกินไป มีการบ้านมาก นักเรียนเครียดไม่มีความสุข การเรียนการสอนไม่ส่งเสริมให้คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ โดยการออกแบบจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างหลากหลายตามรายการและบริบทของโรงเรียน ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไปของทุกวัน เพื่อพัฒนา 4H คือ การพัฒนาสมอง การคิดวิเคราะห์ (Head) พัฒนาจิตใจ คุณธรรมจริยธรรม (Heart)ทักษะฝีมือ (Hand) และสุขภาพ (Health) กับนักเรียนโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 4,100 โรงเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/2559 และเพิ่มเติมอีก 15,897 โรงเรียน (ร้อยละ 50) ในปีการศึกษา 2559 ผลการดำเนินการในรอบ 6 เดือน พบว่า คะแนนเฉลี่ยO-Net ของโรงเรียนนำร่องดีขึ้น ผลสำรวจความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องภาพรวมพึงพอใจโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา
2. โรงเรียนประชารัฐ เป็นโรงเรียนภายใต้โครงการ “สานพลังประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ” ที่เกิดจากความร่วมมือภาครัฐ (กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวม 25 องค์กร จับมือกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาพื้นฐาน มุ่งหวังให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ผู้นำ (ครู ผู้บริหารฯ) ได้รับการพัฒนาให้มีสัมฤทธิผล โรงเรียนยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของประเทศโดยรวม ประชารัฐการศึกษาจัดเป็นประชารัฐย่อยใต้ร่มประชารัฐใหญ่ของรัฐบาลเพื่อตอบโจทย์ให้กับประเทศ 3 ด้าน (การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างศักยภาพการแข่งขัน และการสร้างคุณภาพทรัพยากรมนุษย์) โดยเป้าหมายของโรงเรียนประชารัฐกำหนดตำบลละ 1 โรงเรียน รวม 7,424 โรงเรียน (ระยะแรก 3,342 โรงเรียน) กิจกรรมหลัก ๆ จะประกอบไปด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ วิจัย การสนับสนุนทรัพยากร รวมทั้งการเรียนรู้วิธีการสอนผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของ School Partnersจากภาคเอกชนประมาณ 1,000 คน External Volunteer (นักศึกษา) และมี School Sponsor(CEO)จากภาครัฐและภาคเอกชน ขณะเริ่มดำเนินการแล้ว โรงเรียนประชารัฐเป็นการตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา ความเสมอภาค และประสิทธิภาพการจัดการศึกษา
3. สะเต็มศึกษา (STEM) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์(S) เทคโนโลยี(T) กระบวนการทางวิศวกรรม(E) และคณิตศาสตร์(M) เข้าด้วยกัน อันจะเป็นการแก้ปัญหาการเรียนรู้ขาดการบูรณาการ ไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง ขณะที่จำเป็นเตรียมเด็กให้สามารถคิดวิเคราะห์ พัฒนานวัตกรรม ผลผลิตใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับทักษะการเรียนรู้ คุณลักษณะแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โครงงานวิทยาศาสตร์เชิงนวัตกรรม และกิจกรรมสร้างความตระหนัก โดยมีโรงเรียนสังกัด สพฐ. จากเขตพื้นที่การศึกษาเขตละ 10 โรงเรียน รวม 2,250 แห่ง เป็นเป้าหมายดำเนินงาน มีโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นศูนย์อบรมและให้คำปรึกษาด้านหลักสูตรฝึกอบรม มีโรงเรียนศูนย์สะเต็มศึกษาภาคและโรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษาเป็นแบบอย่างเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินเคียงข้างโรงเรียนเป้าหมาย ขณะนี้กำลังเตรียมดำเนินการ สะเต็มศึกษาเป็นโครงการที่จะการตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา
4. การยกระดับภาษาอังกฤษ ภายใต้โครงการ “English Boot Camp การพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ “ เพื่อแก้ปัญหาครูสอนภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ ครูขาดทักษะและเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม(ใช้ภาษาอังกฤษระหว่างอบรม วิทยากรเจ้าของภาษา ประเมินทักษะภาษาอังกฤษ และสร้างวิทยากรแกนนำเพื่อขยายผล) กับกลุ่มเป้าหมายครูที่ผ่านการคัดเลือกที่มีความสามารถภาษาอังกฤษระดับ B1 จำนวน 350 คน ผลที่คาดหวังครูแกนนำได้รับการพัฒนาและมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ นักเรียนของโรงเรียนครูแกนนำได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิผล ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมปรับหลักสูตรขยายเวลาเรียนภาษาอังกฤษเป็นสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง โครงการEnglish BootCamp ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา
5. ป.1 อ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี เป็นการแก้ปัญหานักเรียนบางส่วนยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และส่งเสริมนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่องเขียนคล่อง ภายใต้โครงการ “พลิกโฉมโรงเรียนทำให้นักเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี “ โดยมีเป้าหมายโรงเรียน สพฐ. ทุกโรงเรียน มีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ นักเรียนชั้น ป.1 ทุกคนอ่านออกเขียนได้ นักเรียนชั้น ป.2 ขึ้นไปอ่านคล่องเขียนคล่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยสูงขึ้น นักเรียนมีทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ฯ ซึ่งผลการดำเนินการมาระยะหนึ่ง พบว่า ประสบผลสำเร็จพอสมควรแต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายซึ่งต้องพัฒนาต่อไป โครงการนี้ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา
6. โครงการ DL Thailand เป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ประกอบไปด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) DLTV ; การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(Distance Learning Television) คือรูปแบบจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ “ครูตู้” เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกล ขาดโอกาส ประสบปัญหาการมีครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชา โดยการรับสัญญาณถ่ายทอดจากโรงเรียนต้นทาง (โรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน) มายังโรงเรียนปลายทาง (โรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ. จำนวน 15,369 แห่ง) โดยโรงเรียนสามารถเลือกวิธีการจัดได้ตามความเหมาะสมและบริบท ได้ทั้งดูจาก “ครูตู้” สด ๆ หรือ เปิด DVD ที่อัดสำเนาครูตู้เอาไว้ 2)DLIT ; การจัดการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology) คือรูปแบบจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (บนเว็บไซต์ www.dlit.ac.th ซึ่งมีทั้งห้องสมุดออนไลน์ ห้องเรียนคุณภาพ คลังสื่อ คลังข้อสอบ ชุมชนแห่งการพัฒนา และเว็บไซต์อื่น) กลุ่มเป้าหมายสำหรับโรงเรียนอื่น ๆ โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นเป้าหมายรูปแบบแรกสามารถเลือกใช้รูปแบบนี้เพิ่มเติมได้ ทั้งสองกิจกรรมได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่า ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี โครงการ DL Thailandตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาและความเสมอภาคทางการศึกษา
7. การผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (คุรุทายาท) เป็นโครงการทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคนเก่งไม่อยากเรียนสายครู ขาดแคลนครูในสาขาเฉพาะ และขาดแคลนครูในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลชายขอบ ทุรกันดาร โดยวิธีการคัดเลือกนักเรียน และนักศึกษา เข้าโครงการ แล้วศึกษาต่อปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อจบแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นครู(ครูผู้ช่วย) ทดแทนอัตราครูเกษียณตามภูมิลำเนาเดิม ในสถานศึกษา สพฐ. ( จำนวน 45,226 อัตรา) สอศ. (2,453 อัตรา) กทม. 595 อัตรา และ กศน. 100 อัตรา) รวมทั้งสินา 48,374 อัตรา โดยจะบรรจุช่วงปี 2559-2568 การผลิตครูตามโครงการดังกล่าวทำสองช่วงโดยให้ดำเนินการในช่วง 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) ก่อน จากนั้นให้ส่วนราชการดำเนินการในระยะต่อไปโดยจะนำไปบรรจุในแผนพัฒนาประเทศเพื่อเป็นเงื่อนไขให้ดำเนินการต่อ โครงการนี้จะได้คนเก่ง คนดีมาเป็นครูที่บ้านเกิดเป็นตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษา
8. TEPE Online การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยระบบ TEPE Online (Teachers and Educational Personals Enhancement Based on Mission and Functional Areas as Majors) เป็นการพัฒนาด้วยระบบออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาครูทิ้งห้องเรียน ทิ้งนักเรียนไปอบรม ความสิ้นเปลืองงบประมาณการอบรม การอบรมที่ไม่ตรงและไม่ครอบคลุมความต้องการของครู อันจะเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน ใช้กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ยึดโรงเรียนเป็นฐานการพัฒนา ประสบการณ์วิชาชีพ และผลการพัฒนาสามารถใช้เป็นเครื่องมือพัฒนางานและพัฒนาวิชาชีพได้ ภายใต้สโลแกน “ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา” โดยมีเป้าหมายเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สพฐ. ในทุกสายงาน สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตามต้องการในหลักสูตร 5 กลุ่ม (เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มครูผู้ช่วย การพัฒนางานในหน้าที่ การขอมีและขอต่อใบประกอบวิชาชีพครู การพัฒนาก่อนแต่งตั้งมีและเลื่อนวิทยฐานะ และการพัฒนาก่อนแต่งตั้งสู่ตำแหน่ง) ผ่านเว็บไซต์ www.tepeonline.org ที่มีขั้นตอนของการลงทะเบียนเรียนทางเว็บไซต์ การเรียนรู้พัฒนา การยื่นขอรับรองความรู้ การทดสอบความรู้ การรับรองความรู้ TEPE Online ตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา
9. การรวบโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ.ที่มีครูไม่ครบชั้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยภาพรวมต่ำ ประกอบกับนโยบายส่งเสริมสนับสนุนและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจังของรัฐบาล มีเป้าหมายที่จะเพิ่มโอกาสและยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่ง โดยใช้หลากหลายรูปแบบวิธีการ เช่น การควบรวมโรงเรียน (ปี 2559-2560 สพฐ. มีแผนที่จะควบรวม 10,971 โรง) จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยสอน จัดสรรอุปกรณ์ดาวเทียม จัดทำSchool Mapping เป็นต้น ผลการดำเนินการมาระยะหนึ่ง ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับโอกาสและคุณภาพการศึกษา ได้รับความช่วยเหลือตามความต้องการจำเป็น การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ส่วนการควบรวมโรงเรียนอยู่ในขั้นเสนอแผน และจะได้ดำเนินการต่อไป นโยบายนี้ตอบโจทย์ทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษา ความเสมอภาคทางการศึกษาและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา
10. การขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค เป็นการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาแบบเร่งด่วน ด้วยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และ 11/2559 การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในการบูรณาการงานระดับพื้นที่ การบังคับบัญชาสั่งการเดียวที่ชัดเจน ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และความคล่องตัวในการบริหารงานบุคคล โดยมีธงชัยคือโอกาสและคุณภาพการศึกษาซึ่งการจัดโครงสร้างการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคดังกล่าว กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค 18 ภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในทุกจังหวัด กำหนดบุคคลทำหน้าที่ศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด และมีองค์คณะบริหารทั้งในระดับนโยบาย (คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ; คปภ.) และระดับปฏิบัติ (คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ว กศจ. และคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด 3 คณะ ; อกศจ.) เพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมายคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการด้วยความเข้มข้น นโยบายนี้ตอบโจทย์เรื่องการยกระดับคุณภาพและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษา
|